วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560


ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคเป็นยุงที่ออกหากินเฉพาะในตอนกลางวัน ชอบอาศัยอยู่ในแถบอากาศร้อนชื้น จึงพบได้มากในประเทศเขตร้อนในทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลางและใต้ ตอนเหนือของออสเตรเลีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จากการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ไข้เลือดออกจึงเป็นหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสนใจ และประกาศให้เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง
ไข้เลือดออก
ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนชื้น จึงพบการแพร่กระจายของยุงลายได้มาก อาจพบโรคนี้ประปรายตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนคือเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน มีฝนตกชุกและมีแอ่งน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นเสมือนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยสถิติจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย 2 ปีล่าสุด พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 40,278 ราย โดยมีผู้เสียชีวิต 41 ราย ในปี 2557 และเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 142,925 ราย เสียชีวิต 141 ราย ในปี 2558 โดยพบการระบาดของโรคมากที่สุดในบริเวณภาคกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเมืองใหญ่ทั่วปริมณฑลที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งเอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น โรคไข้เลือดออกจึงเป็นโรคติดต่อที่มีการประกาศเตือนให้เป็นโรคเฝ้าระวังในประเทศไทย เพราะมีอัตราการป่วยและการแพร่ระบาดค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มทางสถิติที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเรื่อย ๆ
อาการของไข้เลือดออก
อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้สูง ตัวร้อน ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่า คือ มีไข้สูงมาก ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว ในบางรายอาจคลื่นไส้อาเจียน อาจพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกายในรายที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำ
สาเหตุของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเพศเมียที่เป็นพาหะของโรค ดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ จากนั้นไวรัสเดงกี่จะเติบโตภายในท้องของยุงลาย เมื่อยุงลายกัดคนอื่นต่อไป เชื้อไวรัสนี้ก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกกัดไปด้วย
การวินิจฉัยไข้เลือดออก
สังเกตอาการด้วยตนเอง หากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว หรือมีผื่นแดงหรือห้อเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อพบแพทย์ แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต สังเกตลักษณะอาการที่แสดง พร้อมกับการซักประวัติผู้ป่วย  เพื่อดูความเสี่ยงและโอกาสว่าผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของไข้เลือดออกหรือไม่ และอาจตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดร่วมด้วย
การรักษาไข้เลือดออก
การรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค เป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไป ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงมากและปวดหัวรุนแรง เบื้องต้นจึงใช้ยาระงับอาการ คือ Acetaminophen หรือพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวดและลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ซึ่งจะมีผลต่อเซลล์เม็ดเลือด อาจกระทบต่อภาวะที่มีเลือดออกซึ่งทำให้อาการแย่ลง ในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนและอ่อนเพลียจากไข้ แพทย์จะให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย นอกจากนี้เป็นการรักษาตามอาการที่ป่วยและเฝ้าระวังการเกิดอาการแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกอาจพัฒนาความรุนแรงไปสู่ภาวะโรค Dengue Hemorrhagic Fever ซึ่งจะทำให้มีไข้สูงขึ้น อาการปวดหัวรุนแรงขึ้น อาจมีภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน และ Dengue Shock Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่เสียเลือดมาก พลาสมารั่ว ความดันโลหิตต่ำ นำไปสู่การช็อกที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การป้องกันไข้เลือดออก


ปัจจุบัน มีการประกาศใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดดออกในบางประเทศ สำหรับในประเทศไทยวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกยังอยู่ในกระบวนการค้นคว้าทดลอง เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในการรับรองประสิทธิผลทางการรักษา วิธีการป้องกันจึงเน้นไปยังวิธีการกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคด้วยการดูแลตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น